อัพเดทข่าวสารเทคโนโลยี
อุตสาหกรรมไทยยังอยู่ในยุค 2.0
ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเยอรมันประเมินภาพรวมของอุตสาหกรรมของไทยเฉลี่ยยังอยู่ในยุค 2.0 กว่าเท่านั้น มีเพียงบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่อยู่ในยุค 3.0 หรือมีการใช้ระบบ ออโตเมชั่นในกระบวนการผลิตเป็นส่วนใหญ่ ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ยังอยู่ในยุค 2.0 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย สามารถทยอยปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีงบช่วยเหลือค่าจ้างที่ปรึกษา 300 รายภายในปีนี้ รายละ 100,000 บาท โดยมีวงเงินงบประมาณช่วยเหลือของ กสอ. รวม 50 ล้านบาท โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คัดเลือกผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 100 ราย อันประกอบไปด้วย 1) ผู้ประกอบการในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 40 ราย และ 2) ผู้ประกอบการทั่วประเทศที่ได้รับการคัดเลือกจาก กสอ. อีก 70 ราย ส่วนปี พ.ศ. 2562 จะเพิ่มการช่วยเหลือเอสเอ็มอี อีก 1,000 ราย โดยได้รับงบประมาณจาก กสอ. ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2
ส่วนวงเงินสำหรับใช้ลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสู่ยุค 3.0 นั้น สามารถกู้ได้จากสินเชื่อทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งได้กันงบประมาณเอาไว้สำหรับโครงการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีโรโบติกส์หรือหุ่นยนต์ 2, 000 ล้านบาท จากวงเงินสินเชื่อรวมทั้งหมด 20,000 ล้านบาท โดยเริ่มจากการให้ที่ปรึกษาหรือ SI จากสถาบันไทย-เยอรมันช่วยวิเคราะห์ เมื่อได้รับคำแนะนำก็สามารถทยอยปรับระบบการผลิตต่อไปตามลำดับ จากอุตสาหกรรมยุค 2.0 สู่อุตสาหกรรมยุค 3.0 โดยมีการเติม Internet of Thing (IoT) ในเรื่องของการใช้ Big Data เสริมเข้าไปในระบบการผลิต เป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ที่เป็นระบบออโตเมชั่น จากนั้นจึงต่อยอดระดับเทคโนโลยีจนสามารถก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 ได้ตามลำดับ โดยอุตสาหกรรมที่จะเห็นการก้าวเข้าสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ได้ก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์บริการ ซึ่งสอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย
ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ได้มีความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น โดยเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) จัดทำโครงการ ‘บิ๊กบราเธอร์’ โดยประเทศญี่ปุ่นได้คัดเลือกผู้ประกอบการชั้นนำของญี่ปุ่นเป็นจำนวน 60 ราย มาเป็นพี่เลี้ยงถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยี IoT หรือเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ และระบบการผลิตแบบลีนออโตเมชั่นให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเข้าร่วมโครงการนี้ คาดว่าผู้ประกอบการญี่ปุ่น 1 ราย จะเข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทย 2 ราย ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นบิ๊กบราเธอร์ จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล IoT เช่น ฮิตาชิ ไฮเทค จะเชี่ยวชาญเรื่องโรงงานอัจฉริยะโคจิม่า เพรส ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง ผู้ประกอบการฟาร์มกุ้งอัจฉริยะของญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่บริษัทของญี่ปุ่นก็จะคัดเลือกบริษัทเอสเอ็มอีที่จะเข้ามาอยู่ในห่วงโซ่การผลิต พัฒนาซัพพลายเออร์ให้มีระดับเทคโนโลยีสูงขึ้น
หน่วยงานของรัฐเร่งดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต
กองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันอาหารดำเนินกิจกรรมสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต) พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปีที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2561 โดยจัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการคลัสเตอร์อาหารแห่งอนาคต (Future Food) และมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกคลัสเตอร์ เป็นกลุ่มแรกประมาณ 30 คน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “รวมกลุ่ม สร้างพลัง สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจและประเทศไทย” และผู้เข้าร่วมโครงการยังร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินงานคลัสเตอร์อาหารอนาคต และเขียนแผนนวัตกรรม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจจะสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตในรุ่นต่อไป สอบถามรายละเอียดได้ที่ แผนกพัฒนาผู้ประกอบการทางเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ สถาบันอาหาร
กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation Center) หรือศูนย์ ITC ภาคที่ 11 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีหน้าที่ในการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั้งหมด 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา สตูล ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส จะดำเนินงานให้บริการในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การเป็นศูนย์บริการด้านข้อมูลของผู้ประกอบการ เพื่อการเชื่อมโยงจับคู่ทางธุรกิจ การบริการให้คำปรึกษาแนะนำแก้ไขปัญหาตามประเด็นความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งการออกแบบ การบริหารจัดการ การจัดหาแหล่งทุนและเครื่องมือทางด้านการเงินต่าง ๆ การให้บริการเครื่องมือและอุปกรณ์ ทั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพวัตถุดิบ เครื่อง 3D Printing 3D Scanning เพื่อการต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูง การให้บริการด้านวิศวกรรม การจัดหาผู้ผลิต ทำการทดสอบและรับรองมาตรฐาน การทดสอบตลาด เพื่อบ่มเพาะให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสินค้าและดำเนินธุรกิจได้เอง โดยมีการแบ่งปันเครื่องจักรอุปกรณ์จากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ มาให้บริการแก่ผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการประกอบกิจการ โดยล่าสุด ทางศูนย์ ITC ภาคที่ 11 ได้มีการติดตั้งเครื่องนึ่งสุญญากาศ เครื่องจักรที่ทันสมัยและเป็นเทคโนโลยีล่าสุด คือ มีการนำเทคโนโลยี Internet of Things (IoTs) ซึ่งเป็นการพัฒนาซอฟท์แวร์โดย บริษัท ฟู้ด แมชชินเนอรี่ จำกัด ผู้ออกแบบและผลิตเครื่องจักรในกระบวนการแปรรูปอาหารอันดับหนึ่งของไทย เพื่อให้บริการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาแก่ผู้ประกอบการได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เข้ามาติดตั้งและให้บริการภายในศูนย์เรียบร้อยแล้ว
กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม กรมการค้าต่างประเทศ ได้จัดโครงการ iLike เพื่อปลุกกระแสสังคมออนไลน์โซเชียลมีเดียให้คนไทยรู้จัก และหันมาสนใจสินค้าเกษตรนวัตกรรม และให้ผู้ประกอบการได้เห็นโอกาสในการนำนวัตกรรมมาต่อยอดผลผลิตทางการเกษตร เน้นให้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-based Economy) ตามนโยบายของรัฐบาล
ในส่วนของความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ในฐานะประธานฝ่ายปฏิบัติการเมืองนวัตกรรมอาหาร ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งมหานครโตเกียว ประจำประเทศไทย (โตเกียว เอสเอ็มอี) นำผู้ประกอบการอาหารในประเทศไทยจำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท ซีแวลู บริษัท นิธิฟู้ด บริษัท ซันสวีท บริษัท บีโปรดักส์ และบริษัท ทีแกลอรี ร่วมงาน Tokyo Business Matching 2018 ณ เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งฟู้ดอินโนโพลิส ร่วมกับ โตเกียวเอสเอ็มอี จัดขึ้น เพื่อสนับสนุนและชักชวนผู้ประกอบการด้านอาหารในประเทศญี่ปุ่น ขยายการลงทุนในประเทศไทย และสร้างโอกาสให้การจับคู่ทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน มีการหารือทางธุรกิจเกิดขึ้นรวม 60 ครั้ง และได้คู่ค้าที่มีศักยภาพต่อยอดทำธุรกิจร่วมกันกว่า 20 ราย
อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะเป็น 1 ใน 3 อุตสาหกรรมตัวนำในช่วงต้นของการพัฒนา ECC
นโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ECC) เป็นก้าวที่สำคัญของโครงสร้าง ทางเศรษฐกิจไทยจากการดึงดูดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งนี้ ประเมินว่าอุตสาหกรรม การขนส่งและการบิน อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็น 3 กลุ่มที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในช่วงต้นของการพัฒนา ECC
ในขณะนี้มีความคุ้มค่าของการลงทุนในหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยก้าวสู่ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการรวมให้ผู้ประกอบการไทยก้าวสู่ธุรกิจให้บริการด้านรวมระบบ (System Integration: SI) โดยเมื่อพิจารณาความสามารถการทดแทนแรงงาน และค่าใช้จ่ายในการลงทุน พบว่าการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะคุ้มทุนภายในเวลา 6-10 ปี ขณะที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมมีอายุการใช้งานสูงสุด 12 ปี ทำให้อาจจะทดแทนแรงงานในอนาคตกว่า 650,000 ตำแหน่ง เมื่อนำระบบดังกล่าวมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ดี จะมีการสร้างงานใหม่ที่เกี่ยวข้อง ด้วยเช่นกัน
ในปี พ.ศ. 2561 จะมีบริษัทเอกชนรายใหญ่ของไทยเตรียมลงทุนด้านหุ่นยนต์รวมประมาณ 12,000 ล้านบาท อาทิ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และมีบริษัทจากจีนสนใจลงทุน นอกจากนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นก็สนใจลงทุนเช่นกัน อาทิ ฮิราตะ กำลังหารืออยู่ รวมทั้งเดนโซ่ ที่นำระบบเข้ามาช่วยเหลืออุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของไทย
ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยได้เริ่มมีการปรับตัวโดยหันไปยังกลุ่มชิ้นส่วนนวัตกรรมเพื่อเตรียมรับรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งการผลิตเครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เนื่องจาก เป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาส และเป็นไปได้มากกว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน โดยเฉพาะความต้องการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีสูงถึง 5,000 เครื่องและความต้องการทั่วโลกมี 500,000 เครื่อง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
COPYRIGHT
BY PIIU OIE GO TH 2019